Peace Culture Foundation - Aikido in Chiang Mai

View Original

กรูมมิ่ง ผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ

ผู้กระทำมีจุดประสงค์หลักเพียงประการเดียวในการกรูมมิ่ง คือ ได้ละเมิดทางเพศในลักษณะที่มีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ สามารถควบคุมบังคับให้ตอบสนองความต้องการได้ทุกครั้งที่ต้องการ โดยไม่ต้องบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายร่างกาย

ระดับความรุนแรงของผลกระทบอาจมีตั้งแต่ระดับเบา หากผู้ถูกกระทำไหวตัวทันและนำตัวออกจากสถานการณ์ได้เร็ว ไปจนถึงระดับร้ายแรง หากการกรูมมิ่งนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ การถูกข่มขืน บังคับให้ติดอยู่ในการควบคุมของผู้กระทำและถูกกระทำซ้ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถูกข่มขู่ให้หวาดกลัว รีดไถเงิน หรือใช้การควบคุมทางจิตใจ เช่น ทำให้รู้สึกว่าเป็นฝ่ายผิด เป็นหนี้บุญคุณ หรือแม้กระทั่งทำให้เวทนาสงสารผู้กระทำ หรือสับสนไปมาระหว่างความรู้สึกที่ขัดแย้งกันจากการปั่นหัวของผู้กระทำ (การปั่นหัวหรือ gaslighting เป็นวิธีการที่พบได้บ่อยในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง คือผู้กระทำจะย้ำบ่อย ๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นสิ่งผิด เป็นเรื่องธรรมดา ผู้ถูกกระทำคิดมากไปเอง ไปจนถึงกล่าวหาว่าผู้ถูกกระทำหลงผิด เห็นแก่ตัว เป็นโรคประสาท คิดไม่เหมือนคนอื่น ฯลฯ จนทำให้สับสนหรือหลงเชื่อตามไปว่าเป็นอย่างนั้นจริง อาจเปรียบได้เหมือนกับคนที่หลงไปเข้าเป็นสาวกของเจ้าลัทธิแล้วถูกกล่อมให้เชื่อจนแม้ครอบครัวและญาติพยายามทักท้วงให้เห็นความไม่เป็นเหตุผลแต่ก็ยังหลงเชื่ออยู่เช่นเดิม)

ความเข้าใจผิดประการหนึ่งที่มักพบได้บ่อย ก็คือเรามักประเมินว่าผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของประสบการณ์ เช่น ถ้าเพียงถูกลวนลาม จับเนื้อต้องตัว ยังไม่ได้ข่มขืน ไม่ได้ทำร้าย ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรง เมื่อเวลาผ่านไปก็จะกลับเป็นปกติหรือลืมไปเองได้ แต่ในความเป็นจริงก็คือบ่อยครั้งประสบการณ์ที่แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจกลายเป็น “เรื่องฝังใจ” หรือบาดแผลทางใจ (trauma) ส่งผลกระทบได้อย่างรุนแรงไปตลอดชีวิตหากไม่ได้รับการบำบัดเยียวยา

ผู้ถูกกระทำอาจเกิดภาวะเครียดผิดปกติหลังประสพเหตุร้ายแรง (post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) อาการตื่นตระหนกฉับพลัน (panic disorder) อาการซึมเศร้า (depression) อยากตาย ทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดแขนด้วยของมีคม หรือลงมือพยายามฆ่าตัวตาย เกิดความผิดปกติในการกินอาหาร (eating disorder) เป็นกินมากผิดปกติ (bulimia) กินแล้วไปล้วงคอให้อาเจียรแล้วกินต่อ กินน้อยผิดปกติ (anorexia) จนร่างกายผ่ายผอมผิดปกติ หรือหากการล่วงละเมิดนั้นรุนแรงต่อเนื่องนานนับปี ผู้ถูกกระทำอาจสร้างตัวตนใหม่แยกจากตัวตนเดิม เรียกว่าอาการแยกบุคลิก (dissociation) เพื่อเป็นการหนีจากความทุกข์ทรมานที่ต้องเผชิญ ผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น ภูมิต้านทานภายใน เช่นความเชื่อมั่นในคุณค่าของตนเอง และปัจจัยคุ้มครองภายนอก เช่นความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครองหรือครูบางคนที่นักเรียนเคารพรักและไว้ใจ การได้รับความช่วยเหลืออย่างทันทีและมีประสิทธิภาพของครอบครัว โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หากผู้ถูกกระทำเป็นนักเรียนยังจะต้องเผชิญกับความเครียดด้านอื่นอีก เช่น ต้องคอยระวังตัว เก็บความลับ กังวลว่าคนอื่น ๆ จะรู้ และเมื่อเรื่องถูกเปิดเผยออกมาก็มักจะถูกตั้งข้อรังเกียจจากเพื่อน ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่ดี เป็นเด็กใจแตก ให้ท่าครู เพราะนักเรียนส่วนใหญ่และครูคนอื่น ๆ ไม่ตระหนักถึงกระบวนการกรูมมิ่ง ที่ครูผู้กระทำได้ทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานแล้ว

นักเรียนที่ถูกกรูมมิ่งออนไลน์และนำไปสู่การถูกละเมิดทางเพศ หรือการรีดไถเงินหลังจากถูกหลอกให้ส่งรูปหรือวิดีโอที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศให้ผู้กระทำ จะมีความเครียดเพิ่มขึ้นอีก เพราะรู้ว่าถูกหลอกแล้วหาทางออกจากปัญหาไม่ได้ ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองเพราะกลัวว่าจะถูกดุด่าหรือลงโทษ หรืออับอายที่ตัวเองทำผิดพลาดไป บางรายถึงกับจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย

อาการ PTSD จะมีอาการหลักอยู่สามอย่างคือ

  • การคิดหมกมุ่นกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไม่สามารถหยุดคิดได้ คิดถึงเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นวนอยู่ในสมอง หรือแสดงออกในรูปการฝันร้าย ฝันซ้ำ ๆ นอนหลับไม่สนิท หรือนอนไม่หลับ บางครั้งเกิดภาพเหตุการณ์แวบขึ้นมาในจิตสำนึก (flashback) ทำให้รู้สึกเหมือนกลับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีก บ่อยครั้งคนที่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการนี้จะใช้ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท เหล้า หรือยาเสพติดจนเกิดปัญหาการติดเหล้าติดยาเพิ่มเข้ามาอีก

  • การพยายามหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน แยกตัว เพราะไม่อยากให้ถูกสะกิดใจหรือเตือนให้คิดถึงเรื่องร้ายนั้นอีก

  • การมีอาการระแวดระวัง สะดุ้งผวา ตกใจง่าย เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา

หากนักเรียนมีอาการเหล่านี้ขณะอยู่ที่โรงเรียน ก็จะไม่มีสมาธิในการเรียน นำไปสู่ความล้มเหลวในการเรียนในที่สุด

อาการตื่นตระหนก (panic) คืออาการตื่นกลัวขึ้นมาอย่างทันทีโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีอาการเหมือนหายใจไม่ออก หัวใจเต้นแรง ตัวสั่น ปากแห้ง เหงื่อแตก วิงเวียนเหมือนจะเป็นลม บางครั้งเกิดขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นโดยภาพ เสียง กลิ่น หรือการสัมผัส ที่ทำให้คิดไปถึงเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น บางคนเมื่อเกิดอาการก็คิดว่าอาจจะหัวใจวาย จะเป็นลม หรือจะตายในขณะนั้น ยิ่งทำให้กลัวเพิ่มขึ้นอีกจนรู้สึกเหมือนจะคุมสติไม่อยู่ วิธีจัดการคือให้มุ่งความสนใจไปที่การหายใจ จะสังเกตได้ว่าขณะที่มีอาการแพนนิค จะหายใจตื้นถี่ ให้พยายามหายใจลึก ช้า สม่ำเสมอ สังเกตว่าลมหายใจเคลื่อนที่เข้าไปช้า ๆ ผ่านรูจมูก ลงไปถึงปอดส่วนล่าง สังเกตว่าทรวงอกและท้องขยายตัวพองขึ้น และเมื่อหายใจออกก็ให้สังเกตการเคลื่อนที่ของลมหายใจและการแฟบลงของช่องท้องและทรวงอก บอกตัวเองในใจว่าประเดี๋ยวอาการนี้ก็จะผ่านไปเอง ไม่มีอันตราย

วิธีดึงความสนใจให้มาอยู่กับปัจจุบันอีกแบบหนึ่งที่สามารถทำได้ คือการตั้งสติหรือตั้งศูนย์ความมั่นคง (grounding หรือ centering) ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น สังเกตว่ามีเสียงอะไรรอบตัวบ้าง กวาดสายตามองรอบตัว แล้วมองหาสิ่งของที่มีสีเขียว (หรือสีอื่นก็ได้) ห้าอย่าง การดมยาหม่องหรือยาดม การบีบของบางอย่างที่มีผิวขรุขระแล้วมุ่งความสนใจจดจ่อกับการสัมผัส นั่งวางเท้าสองข้างกับพื้น สังเกตความรู้สึกสัมผัสที่ฝ่าเท้า ที่บริเวณขา สะโพก หรือแผ่นหลังที่สัมผัสกับผิวเก้าอี้ ฯลฯ

อาการอื่น ๆ ที่เป็นผลจากการเกิดบาดแผลทางใจ (trauma) เช่น PTSD หรืออาการซึมเศร้า ควรได้พบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกฝนอบรมด้านการบำบัดบาดแผลทางใจโดยเฉพาะ ซึ่งอาจหาได้ไม่ง่ายนัก ปัจจุบันประเทศไทยมีสมาคมอีเอ็มดีอาร์ (EMDR Thailand) ซึ่งให้การอบรมและออกประกาศนียบัตรรับรองผู้ผ่านการอบรมด้านนี้ (https://emdrthailand.org) ให้กับนักจิตวิทยาคลินิกและจิตแพทย์ในประเทศไทยในระยะเกือบสิบปีที่ผ่านมานี้

ส่วนการติดต่อกับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานด้านการคุ้มครองเด็กและช่วยเหลือสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงมีอยู่หลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน เช่น

  • มูลนิธิสายเด็ก 1387 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

  • ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

  • มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196

  • มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 0-2513-2889 (จันทร์ถึงศุกร์ 9:00-15:00 น.)

องค์กรเหล่านี้จะมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกฎหมาย ที่มีประสบการณ์ด้านนี้ คอยให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือตลอดกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่ม บางแห่งสามารถติดตามให้ความช่วยเหลือในระยะยาวด้วย

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา

นักจิตวิทยาคลินิก ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม