Peace Culture Foundation - Aikido in Chiang Mai

View Original

บทความพิเศษเนื่องในวันเด็กสากล (World Children's Day) 20 พฤศจิกายนของทุกปี

ในปีพ.ศ. 2497 หรือเมื่อ 68 ปีมาแล้ว องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น วันเด็กสากล (World Children's Day) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการปรับปรุงสวัสดิภาพในชีวิตของเด็กทั่วโลก

นอกจากนี้วันที่ 20 พฤศจิกายนยังมีความสำคัญคือเป็นวันที่สมัชชาแห่งองค์การสหประชาชาติประกาศใช้สิทธิเด็กในปีพ.ศ. 2502 และเป็นวันที่ประกาศใช้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในปีพ.ศ. 2532 อีกด้วย

ประชาชนทุกคนรวมทั้งพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก ครู แพทย์ พยาบาล ผู้นำรัฐบาล และนักกิจกรรมเพื่อสังคม ผู้นำทางศาสนา ผู้อาวุโสในชุมชน ผู้นำทางธุรกิจ และนักการสื่อสาร ตลอดจนเด็กและเยาวชนเอง ล้วนมีบทบาทที่สำคัญที่จะทำให้วันเด็กสากลส่งเสริมคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ

สำหรับประเทศไทย การปรับปรุงสวัสดิภาพของเด็กยังคงเป็นสิ่งที่เด็กๆเรียกร้องและเป็นเรื่องท้าทายที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับรัฐบาล ชุมชน และครอบครัว ยังต้องดำเนินการต่อไป เพราะเรายังคงพบสถิติเด็กถูกละเมิดสิทธิและถูกกระทำความรุนแรงอยู่สูงอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจระดับประเทศ ในปี พ.ศ. 2558-2559 โดยรัฐบาลไทยและยูนิเซฟ พบ ว่า 75% ของเด็ก อายุ 1-14 ปีเคยถูกลงโทษทางร่างกาย หรือจิตใจโดยผู้ใหญ่ในบ้าน

วันเด็กสากล เป็นโอกาสที่พวกเราแต่ละคนจะช่วยกันรณรงค์และเฉลิมฉลองสิทธิเด็ก ชวนกันพูดคุยและริเริ่มกิจกรรมที่จะทำให้โลกของเด็กน่าอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะโลกในครอบครัว ดังนั้นการเพิ่มทักษะแก่ผู้เลี้ยงดูเด็กเพื่อลดการกระทำความุรนแรงต่อเด็กจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ ปัจจุบันมีหลักสูตรการอบรมผู้ดูแลเด็กที่ชื่อว่า “การเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิต หรือ Parenting for Lifelong Health (PLH)” ซึ่งพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ต มหาวิทยาลัยบังกอร์ ในสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ และ มหาวิทยาลัยสแตลเลนบอชในอัฟริกาใต้ ได้มีการนำหลักสูตรนี้มาใช้ในประเทศทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทยด้วย

โดยในประเทศไทยได้มีการทำวิจัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ รัฐบาลไทย นักวิชาการ บุคลากรทางสุขภาพ และครอบครัวในจังหวัดอุดรธานี เพื่อปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย โดยได้ปรับหลักสูตรจาก 12 ครั้งมาเป็น 8 ครั้ง ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข หลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของบริการทาง สาธารณสุขในระดับชุมชน ในช่วงเวลา 3 เดือนหลังจากการอบรมพบว่ากลุ่มที่ได้รับการอบรมจะลดการปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรุนแรงลงไป 58% ลดการเลี้ยงดูที่มีลักษณะทารุณกรรมและก้าวร้าวลง 44% ลดปัญหาสุขภาพจิตของพ่อแม่ลง 40% ลดปัญหาพฤติกรรมเด็กลง 60% โดยรวมแล้วผู้ปกครองให้คะแนน ความพอใจต่อการมาอบรมครั้งนี้ 9.4 จากคะแนนเต็ม 10

แน่นอนว่ายัง มีประเด็นหลากหลายที่น่าสนใจและสามรถเคลื่อนไหวได้เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก สุขภาพจิต การศึกษา การยุติการเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศ เชื้อชาติ เด็ก ๆ จากทั่วโลกกำลังส่งเสียงเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ช่วยสร้างอนาคตที่ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง มีความเท่าเทียมและยอมรับทุกคน แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ทันทีและใกล้ตัวเรามากที่สุดคือการปรับเปลี่ยนแนวทางการเลี้ยงดูเด็กให้เป็นเชิงบวกมากขึ้นเพื่อเราจะได้ไม่กระทำความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิของเด็กและสามารถสร้างเด็กที่มีสุขภาพดีตลอดชีวิตเพื่อเติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพของประเทศและของโลกต่อไป หากท่านสนใจเกี่ยวกับหลักสูตร PLH สามารถเข้าดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.peaceculturefoundation.org/parenting-for...

คุณจะทำอะไรได้อีกบ้าง?

ประกวดวิดีโอ TikTok challenge!

https://www.tiktok.com/@unicef/video/7161028333113838890...

ริเริ่มกิจกรรมอื่นๆ คลิกที่ลิงก์นี้

https://www.unicef.org/world-childrens-day#action