Peace Culture Foundation - Aikido in Chiang Mai

View Original

บทความพิเศษ: 30 เมษายน วัน #ยุติการลงโทษเด็กสากล | 30 April International Day to #EndCorporalPunishment

วัน #ยุติการลงโทษเด็กสากล ในวันที่ 30 เมษายน เป็นช่วงเวลาสำคัญระดับโลกในการรณรงค์ปกป้องเด็กจากการถูกลงโทษที่รุนแรงในทุกสถานการณ์ !

การลงโทษทางร่างกาย (หมายถึงการเฆี่ยนตีหรือทำร้ายร่างกายเด็กในลักษณะอื่น ๆ) ยังคงเป็นรูปแบบความรุนแรงต่อเด็กที่พบได้บ่อยที่สุด มีเด็กจำนวนมากที่มักประสบกับการถูกลงโทษทางกายในหลายๆ บริบทของชีวิต การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก การวิจัยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าการลงโทษทางร่างกายส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพจิตและร่างกายของเด็ก ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก และต่อพัฒนาการโดยรวมของเด็กอีกด้วย นอกจากนี้รัฐยังมีค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่ต้องใช้ไปกับการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบเหล่านี้ แต่ถึงกระนั้น 86% ของเด็กจำนวน 2.2 พันล้านคนทั่วโลกก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากการกระทำดังกล่าว

วัน #ยุติการลงโทษเด็กสากล  มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลร้ายของการลงโทษทางร่างกายต่อเด็ก และส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ใช้ความรุนแรงและเป็นเครื่องเตือนใจว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการสนับสนุนให้มีการเผยแพร่กลยุทธ์ในการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกที่สามารถช่วยส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของเด็กได้

ขณะนี้มูลนิธิศานติวัฒนธรรมกำลังดำเนินงานในโครงการ Parenting for Lifelong Health (PLH) หรือ การเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก ป้องกันการทารุณกรรม และการละเลยทอดทิ้งเด็ก
เป็นหลักสูตรการอบรมผู้ปกครองเด็กที่พัฒนาขึ้นโดยมีงานวิจัยรองรับและได้มีการนำไปใช้แล้วใน 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปกครองมีทักษะในการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกและไม่ใช้ความรุนแรง

หลักสูตรการอบรมนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของวันสากลเพื่อ #ยุติการลงโทษทางร่างกายต่อเด็ก โดยเน้นความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างผู้ปกครองกับเด็กและการใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก เช่น การเสริมแรงเชิงบวกและการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ด้วยการสนับสนุนผู้ปกครองในฐานะผู้ดูแลเด็ก

หลักสูตรการอบรมผู้ปกครองเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิต (PLH) ภายใต้การจัดการของมูลนิธิศานติวัฒนธรรมจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก ๆ และช่วยสร้างสังคมที่มีสันติสุขและมีความเกื้อกูลต่อกันให้มากยิ่งขึ้น