สังคมไทยมีความเข้าใจสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็กมากแค่ไหน ?

27 ตุลาคม 2564

จากประเด็นที่เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันถึงความเหมาะสมในการสัมผัสร่างกายของลูกในบริเวณส่วนตัว โดยอ้างว่าเป็น “การแสดงความรัก” ระหว่างคนในครอบครัว ท่านมองประเด็นนี้อย่างไร? มูลนิธิศานติวัฒนธรรมขอเชิญชวนลองให้ตั้งคำถามและสำรวจทัศนคติของคนในสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน

เพราะเป็นครอบครัวจึงทำอะไรก็ได้ จริงหรือ ?

หลายต่อหลายครั้งที่ผู้ใหญ่มีการสัมผัสร่างกายของเด็กโดยอ้างว่าทำไปด้วยความ “เอ็นดู” และอ้างว่าเป็นการแสดงถึงความรักที่มีต่อเด็ก ไม่มีเจตนาที่จะล่วงเกินแต่อย่างใด ในเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันนี้ก็มีความคิดเห็นมากมายที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติเกี่ยวกับการกอด จูบ และสัมผัสเนื้อตัวร่างกายของลูกโดยไม่ต้องถามถึงความยินยอมว่าเป็นเรื่องที่ปกติ ถึงแม้จะเป็นการสัมผัสในบริเวณส่วนตัวของลูก เช่น หน้าอก ก้น พื้นที่ในร่มผ้า หรือแม้กระทั่งอวัยวะเพศของลูก การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพียงเพราะว่าผู้ที่กระทำการสัมผัสเป็นคนในครอบครัวจริง ๆ หรือ ?

ในเวทีเสวนา “ข่มขืน…ภัยใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน” โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้มีการเปิดเผยว่า ร้อยละ 53 ของผู้กระทำความรุนแรงทางเพศในเด็ก ส่วนใหญ่เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัว ซึ่งมักจะอาศัยความไว้ใจ เชื่อใจ ในการล่อล่วงเด็กเพื่อไปกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ นำไปสู่ความเจ็บปวดและสร้างบาดแผลทางจิตใจให้เด็ก ตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจนี้ยังแสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะเป็นคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวของเด็กก็อาจเป็นคนที่ลงมือทำร้ายเด็กได้ และอาจจะมีโอกาสในการที่จะล่วงละเมิดเด็กมากกว่าคนแปลกหน้าเสียด้วยซ้ำไป

สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก ผู้ใหญ่เคารพบ้างไหม ?

สิทธิอย่างแรกที่มนุษย์เรามีเมื่อเกิดมาคือสิทธิในร่างกายของตนเอง และผู้อื่นไม่มีสิทธิที่จะล่วงละเมิดร่างกายของเราไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาในสังคมไทย คือ เราไม่ได้ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรับรู้ถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเองเลย เด็กไทยเติบโตมากับวัฒนธรรมที่ละเมิดสิทธิของตนเองอยู่เสมอ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกคนในครอบครัวสัมผัสร่างกายในบริเวณส่วนตัว เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วก็ถูกจับตัดผมให้สั้นแหว่ง แต่เด็ก ๆ ก็ไม่สามารถที่จะโต้แย้งได้เพราะถูกสอนให้ต้องเคารพผู้ใหญ่ เราไม่เคยสอนให้เด็กปฏิเสธหรือแสดงท่าทีขัดขืนถึงแม้ว่าเด็กจะถูกทำให้รู้สึกอึดอัดหรือรู้สึกไม่ดีก็ตาม นอกจากนี้ การที่เด็กต้องเก็บความขับข้องใจของตนเองไว้ ความคิดที่ว่าไม่มีใครเข้าใจตน อาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจของเด็กในระยะยาวได้อีกด้วย

การยึดถือในอำนาจของผู้ใหญ่ ความคิดว่าเด็กอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่า ทำให้สิทธิพื้นฐานที่สุดของเด็กในร่างกายของตนเองถูกมองข้ามมาอย่างยาวนาน การไม่เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็กเช่นนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงต่อเด็กอันไม่รู้จบในสังคมไทย แล้วเราจะปล่อยให้ทัศนคติเช่นนี้ถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ ในสังคมไปจนถึงเมื่อไหร่ ?

การสัมผัสแบบไหนที่เรียกว่า “ไม่เหมาะสม”

ผศ. ดร. สมบัติ ตาปัญญา นักจิตวิทยาผู้มีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงทางเพศในเด็ก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสัมผัสร่างกายของเด็กไว้ ดังนี้

  1. การสัมผัสมีทั้งแบบที่เหมาะสม แบบรุนแรง ทำร้าย และแบบ “ลับ” คือการสัมผัสร่างกายที่คนสัมผัสจะเน้นย้ำเด็กไม่ให้บอกใคร พยายามให้เด็ก “เก็บไว้เป็นความลับ” ซึ่งการสัมผัสในรูปแบบนี้มักจะเป็นการละเมิด ล่วงเกินทางเพศ ได้แก่ การสัมผัสในบริเวณส่วนตัวของเด็ก

  2. การสัมผัสดังกล่าวมักจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี แต่เด็กมักจะไม่กล้าบอกใคร กลัวจะไม่มีใครเชื่อ เนื่องจากหลายครั้งผู้ที่มาสัมผัสร่างกายของเด็กโดยที่ไม่ยินยอมจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจมากกว่าหรือเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ครู ญาติผู้ใหญ่ หรือแม้แต่คนในครอบครัวที่ใกล้ชิดเขามากอย่างพ่อหรือแม่

  3. เด็กต้องได้รับการสอนว่าคนอื่น ๆ ไม่มีสิทธิและไม่ควรสัมผัสบริเวณส่วนตัวของเขา ให้นิยามง่ายๆ ว่า “บริเวณส่วนตัว” คือบริเวณที่เราใส่ชุดอาบน้ำปิดไว้ก็ได้ และคนอื่น ๆ ไม่มีสิทธิในการบอกให้ลูกสัมผัสบริเวณส่วนตัวของเขาด้วยเช่นกัน

  4. ครอบครัวควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของลูกเป็นอันดับแรก เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ลูกสามารถเล่าเรื่องที่เขาถูกสัมผัสโดยไม่ยินยอมได้ คอยสังเกตว่าลูกมีท่าทีที่ผิดไปจากปกติหรือไม่ อาจถามว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าลูกบอกอะไร อย่าแสดงท่าทีไม่เชื่อหรือปฏิเสธ ฟังลูกให้จบก่อน ซักถามรายละเอียด อย่ารีบสรุปเอาเอง บอกให้มั่นใจว่าเราเชื่อในสิ่งที่ลูกเล่า และเป็นที่พึ่งที่ดีให้กับเขา

อ้างอิง

เปิดสถิติความรุนแรงทางเพศในไทยพุ่ง พบผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุด 5 ขวบ http://https://workpointtoday.com/0%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87/

ชวนอ่านเพิ่มเติม

เกม ‘ป้องกันการล่วงละเมิดเด็ก’ จาก Freedom Restoration Project เพื่อให้เด็กเรียนรู้สิทธิเหนือร่างกายตนเอง https://workpointtoday.com/freedom-restoration-project-child/

ล่วงละเมิดทางเพศแบบนี้ หนูไม่โอเค https://thepotential.org/knowledge/sexual-harassment-younger-comic/

How, and when, to teach little kids about consent and their bodies https://whyy.org/articles/to-teach-young-kids-the-concept-of-consent-focus-on-bodily-autonomy/

Peace Culture Foundation