เมื่อผู้ใหญ่คิดว่าเด็กเต็มใจ
10 เมษายน 2565
ไม่กี่วันมานี้มีข่าวเรื่องครูพานักเรียนไปเข้าโรงแรมอีก เกิดขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ ผู้เขียนข่าวได้พาดหัวว่า “ตั้งข้อหาครูอนาจารนักเรียน พรากผู้เยาว์ไปจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย” รายละเอียดในข่าวยังบอกอีกว่าครูคนนี้มีพฤติกรรมแบบนี้กับนักเรียนอีกหลายคน และผู้อำนวยการโรงเรียนยังพยายามติดต่อผู้ปกครองขอให้ยุติเรื่องเพื่อปกป้องชื่อเสียงของโรงเรียนไม่ให้เสื่อมเสียอีกด้วย
ข่าวเรื่องแบบนี้จะมีออกมาเป็นระยะตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ และการจัดการแก้ปัญหาก็จะทำอย่างเดิม คือกระทรวงศึกษาฯ ก็จะลงโทษครูทางวินัย ตำรวจก็ดำเนินคดีตามกฎหมาย ผู้บริหารโรงเรียนก็จะพยายามทำให้เรื่องเงียบโดยเร็วที่สุดเพื่อปกป้องชื่อเสียงของโรงเรียน จนกว่าจะเกิดเรื่องใหม่ แล้วทุกอย่างก็จะวนไปตามลำดับเหมือนเดิมทุกครั้ง
ข้อสังเกตก็คือผู้ใหญ่ในเรื่องตั้งแต่ครู ผู้บริหารโรงเรียน ตำรวจ และผู้เขียนข่าว จะไม่ให้ความสนใจกับผลกระทบทางจิตใจหรือต่อชีวิตของนักเรียนเลย ซึ่งในทางจิตวิทยามันคือการทารุณกรรมทางเพศที่จะส่งผลให้เกิดบาดแผลทางใจ มีผลร้ายต่อสุขภาพจิต ต่อความคิดเกี่ยวกับตัวเอง และความสัมพันธ์ที่เด็กจะมีต่อไปตลอดชีวิต ผู้ใหญ่จะคิดเอาง่าย ๆ ว่าเด็กเต็มใจ เด็กใจแตก เด็กเป็นคนไม่ดีเองจึงเกิดเรื่องนี้ขึ้น ดังที่คนเขียนข่าวย้ำแล้วย้ำอีกว่า “โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย” เหมือนเป็นการบอกว่าครูไม่ได้ผิด เพราะไม่ได้บังคับ ไม่ได้ฉุดลากไปแต่เด็กเต็มใจไปเอง ถ้าชุดความคิดนี้ติดไปถึงกระบวนการยุติธรรม ผู้กระทำผิดก็จะไม่ได้รับโทษตามที่ควร เพราะศาลก็จะตำหนิผู้ถูกกระทำเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ด้วย
มุมมองเช่นนี้ของผู้ที่เกี่ยวข้องสะท้อนให้เห็นถึงความไม่รู้เรื่องของกระบวนการเตรียมเหยื่อ (grooming) ของผู้กระทำ ซึ่งจะมีขั้นตอนและแบบแผนที่สังเกตได้เสมอ ตั้งแต่การมองหาเหยื่อที่มีความเสี่ยงหรือความเปราะบาง ได้แก่เด็กที่ขาดแคลนความรักความเอาใจใส่ (ทำให้ตอบสนองต่อคนที่มาสนใจหรือคล้อยตามการชักจูงโน้มน้าวได้ง่ายเพราะโหยหาความอบอุ่นอยู่แล้ว) เด็กที่ขาดแคลนเงินและสิ่งของ เด็กที่กำลังมีปัญหา (เช่นมีปัญหาการเรียนอย่างในกรณีนี้ หรือพ่อแม่ขาดการเอาใจใส่ ละเลยเด็กเพราะหมกมุ่นแต่กับเรื่องปากท้องหรือวุ่นวายกับชีวิตของตนเอง) แล้วถือโอกาสเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือเพื่อสร้างบุญคุณ หลังจากนั้นก็จะพยายามสร้างสถานการณ์หรือหาโอกาสที่จะได้อยู่ตามลำพังกับเด็ก เริ่มทำตัวสนิทสนม อาจแสร้งปรับทุกข์กับเด็ก อ้างว่ามีปัญหาและไม่ได้บอกใครแต่บอกเด็กคนเดียวเพื่อทำให้เด็กหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ ได้รับความไว้วางใจ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ แสดงออกทางเพศเพื่อให้เด็กคุ้นชิน เริ่มสอนให้เด็กเก็บเรื่องไว้เป็นความลับ ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีฮอร์โมนทางเพศแล้ว ก็จะถูกกระตุ้นความรู้สึกจนร่างกายเกิดการตอบสนองตามธรรมชาติ แม้ว่าในใจจะเต็มไปด้วยความสับสน กังวลหรือหวาดกลัว แต่เมื่อจะปฏิเสธก็จะเกิดความรู้สึกผิดเพราะผู้กระทำได้ให้เงินให้สิ่งของหรือช่วยเหลือต่าง ๆ หลายอย่างมาก่อน หรืออับอายและคิดว่าตัวเองก็เป็นฝ่ายผิดด้วย และในที่สุดผู้กระทำก็ลงมือล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่เด็กไม่กล้าขัดขืน หลังจากนั้นก็จะใช้วิธีควบคุมบังคับ ขู่เข็ญ เพื่อให้เด็กต้องจำยอมให้กระทำต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีใครจับได้ แต่เมื่อถูกจับก็จะอ้างว่าเด็กเต็มใจเอง และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ไม่มีความตระหนักถึงกระบวนการกรูมมิ่งก็จะพลอยเห็นตามไปด้วย ดังที่ปรากฏในข่าวตลอดมาทุกราย
ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องรณรงค์การให้ความรู้กับทุกฝ่ายเรื่องกระบวนการกรูมมิ่ง และทำให้ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความเต็มใจของเด็ก แต่มันคือการข่มขืนเด็กที่ได้มีการเตรียมการไว้อย่างซับซ้อนและยาวนานจนเมื่อครูลงมือเด็กก็ไม่กล้าขัดขืนแล้วต่างหาก
ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา
นักจิตวิทยาคลินิก ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม