กรูมมิ่ง (Grooming) คืออะไร?

เมื่อพูดถึงการละเมิดทางเพศ เรามักจะนึกถึงการลวนลามและข่มขืนเป็นอันดับแรก และมีภาพของการใช้กำลังทุบตี ฉุดกระชาก การบาดเจ็บ เลือกตกยางออก เป็นที่มาของวิธีคิดที่ว่าคนที่ถูกกระทำจะต้อง “ขัดขืน” จึงจะมีการ “ข่มขืน” เกิดขึ้น ดังนั้นหากผู้ถูกกระทำไม่ได้ขัดขืน ไม่ถูกทุบตีหรือบังคับ ไม่มีการบาดเจ็บ ก็ทำให้เกิดความสงสัยว่าจะเป็นความเต็มใจหรือสมยอมมากกว่าหรือเปล่า และเมื่อผู้ถูกกระทำไปบอกใครเพื่อขอความช่วยเหลือก็จะถูกมองด้วยสายตาและน้ำเสียงที่ตำหนิหรือกล่าวโทษเสมอ เป็นอิทธิพลจากค่านิยมที่ว่าผู้หญิงควรรักนวลสงวนตัว ไม่ยอมให้ใครมาล่วงเกิน (ในขณะที่ผู้ชายที่ “เจ้าชู้” หลอกลวงหรือล่วงเกินผู้หญิงได้จะถือว่าเป็นคนเก่ง มีความสามารถ มีเสน่ห์ เป็นที่ชื่นชมจากผู้ชายด้วยกันหรือแม้จากผู้หญิงบางคน เป็นสองมาตรฐานในสังคมแบบหนึ่งนั่นเอง)

การข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรีจะมีระดับของความรุนแรงต่างกันตั้งแต่ระดับที่หยาบกระด้างและโหดร้ายรุนแรง คือทุบตีให้เจ็บปวด ขู่ฆ่าหรือทำร้ายด้วยอาวุธ ใช้เหล้า ยาเสพติด ยานอนหลับแอบผสมในเครื่องดื่มให้มึนเมาจนขัดขืนไม่ได้ แต่การข่มขืนที่แยบยลที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงเลย คือการหลอกอย่างช้า ๆ ให้หลงเชื่อและไว้วางใจโดยไม่รู้ตัว สร้างเงื่อนไขต่าง ๆ จนผู้ถูกกระทำไม่สามารถขัดขืนได้ และหลังจากข่มขืนแล้ว ก็ยังสร้างสถานการณ์ให้ต้องตกอยู่ในการควบคุมบังคับให้ตกเป็นเหยื่อซ้ำซากต่อไปอีก ไม่สามารถออกไปจากความสัมพันธ์นั้นได้

คนที่คิดจะละเมิดทางเพศต่อเด็ก (และสตรี) อย่างแยบยลเช่นนี้จะมีกระบวนการที่เป็นรูปแบบซึ่งสังเกตได้ง่าย คือ เริ่มดึงเด็กให้เข้าใกล้โดยการสร้างความไว้วางใจก่อน บางครั้งอาจเข้าหาผู้ปกครองเด็กเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ไว้วางใจและยอมปล่อยให้เข้าใกล้ชิดหรืออยู่ตามลำพังกับเด็กได้ กระบวนการนี้อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปี เพื่อก้าวข้ามการระวังป้องกันตัวของเด็กและเพิ่มการยอมรับการสัมผัสร่างกาย วิธีการนี้คือการตระเตรียมเหยื่อเพื่อล่วงละเมิด (grooming) มักจะเป็นไปตามลำดับดังต่อไปนี้

  1. เลือกเป้าหมาย: มองหาและเลือกคนที่ต้องการให้เป็นเหยื่อ มักเลือกคนที่มีความเปราะบางในด้านต่าง ๆ เช่น โหยหาความรักความอบอุ่นหรือการยอมรับ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง โดดเดี่ยว ผู้ปกครองละเลยหรือไม่เอาใจใส่ใกล้ชิด หรือขาดแคลนด้านวัตถุ เงินทอง ของใช้ อุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น

  2. สร้างความไว้วางใจ: ผู้กระทำจะเฝ้าสังเกตและพยายามทำความรู้จักเด็กและรู้ว่าเด็กมีความต้องการอะไรบ้าง และจะตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างไร

  3. ใช้บุญคุณ: ตอบสนองความต้องการ หลังจากรู้ว่าเด็กต้องการอะไรแล้ว ผู้กระทำก็จะพยายามตอบสนองด้วยการให้สิ่งเหล่านั้น เช่น ของใช้ แสดงความรักความเอาใจใส่ เริ่มมีบทบาทสำคัญในชีวิตเด็ก

  4. กระตุ้นให้อยู่ลำพัง: แยกเด็กออกจากผู้ดูแล ผู้กระทำอาจเสนอตัวเข้ามาดูแลเด็กเวลาที่ผู้ปกครองไม่ว่าง อาสาไปรับไปส่งทำธุระ พาไปเที่ยวซื้อของ หรือพยายามทำอย่างอื่นเพื่อสร้างโอกาสที่จะได้อยู่ตามลำพังกับเด็กโดยไม่มีใครมาขัดจังหวะ ผู้ปกครองบางคนอาจตกหลุมพรางนี้เพราะดีใจที่มีคนมาสนใจหรือเอาใจใส่ลูก

  5. ให้ฟังความลับ: ผู้กระทำอาจเริ่มแนะนำ “ความลับ” หรือการแอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกันเพื่อให้เด็กไว้ใจและแยกเด็กออกห่างจากครอบครัว เช่น ยอมให้เด็กทำอะไรบางอย่างที่ตามปกติผู้ปกครองจะไม่อนุญาตให้ทำ หากเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีความขัดแย้งหรือต่อต้านผู้ปกครองอยู่แล้ว ก็จะยิ่งรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจและพอใจที่ได้ทำ บางครั้งอาจแกล้งทำเป็นเล่าเรื่องปัญหาหรือความไม่สบายใจของตนเอง (โดยสร้างเรื่องขึ้นมา) แล้วกำชับเด็กว่าไม่ให้บอกใคร ทำให้เด็กรู้สึกตัวเองเป็นคนพิเศษ ได้รับความไว้วางใจ

  6. จับเนื้อต้องตัว: เริ่มแสดงออกทางเพศกับเด็ก มักจะเริ่มจากการสัมผัสที่ดูเป็นธรรมชาติก่อน เช่น โดนตัวโดยบังเอิญหรือสัมผัสร่างกายโดยการหยอกหรือเล่นกับเด็ก เพื่อให้เด็กคุ้นเคยและจะได้ไม่ขัดขืนเมื่อยกระดับเป็นการสัมผัสแบบทางเพศมากขึ้น ผู้กระทำจะฉกฉวยประโยชน์จากความอยากรู้อยากเห็นของเด็กเพื่อทำให้ปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นการละเมิดทางเพศมากขึ้นไปอีกตามลำดับ และจะพยายามโน้มน้าวให้เด็กเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในระยะนี้เด็กอาจเริ่มสับสนและไม่สบายใจ แต่ก็จะไม่กล้าขัดขืนเพราะคิดว่าคน ๆ นี้ห่วงใยและหวังดีต่อตนเอง หรือรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ หรือกลัวว่าหากไม่ยอมตามสิ่งที่เคยได้ก็จะไม่ได้รับอีก

  7. ขู่ให้กลัว ควบคุมบังคับ: ใช้การควบคุม พฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้กระทำได้ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กแล้ว และต้องการที่จะทำต่อไปเรื่อย ๆ และบังคับให้เด็กทำตามความต้องการของตนเอง จะใช้การข่มขู่หรือการสร้างความรู้สึกผิดเพื่อบังคับให้เด็กเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ และทำให้เด็กต้องร่วมมือให้ละเมิดทางเพศต่อไปและไม่กล้าบอกใคร เช่น อาจขู่ว่า “ถ้าเอาเรื่องนี้ไปบอกแม่ แม่ก็จะเกลียดหนูนะ” หรือ “ถ้าไปบอกใครฉันจะทำร้ายคนในครอบครัวเธอ” ผู้กระทำอาจตำหนิเด็กที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น หรือทำให้เห็นเป็นเรื่องปกติ โดยบอกเด็กว่ามัน “เป็นเรื่องธรรมดา”

คำว่ากรูมมิ่ง (grooming) ถ้าแปลตรง ๆ ตามคำก็จะหมายถึงการแต่งตัว ทำผม แต่งหน้า เพื่อให้สวยงาม พร้อมที่จะออกงาน และหากแปลความให้กว้างออกไปอีกก็หมายถึงการเตรียมคนโดยเฉพาะเด็กหรือผู้อ่อนประสบการณ์ ให้มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่หรือรับผิดชอบกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เจ้าของธุรกิจใหญ่อาจเตรียมลูกคนโตให้รับช่วงกิจการของครอบครัวต่อ โดยการพาไปดูการทำงานของพ่อ คอยพูดคุยแนะนำ ปลูกฝังวิธีคิดหรือทัศนคติ หรือให้ฝึกทักษะในการทำงาน เมื่อโตพอที่จะทำได้แล้วก็ส่งมอบภารกิจให้ทำต่อไป

ในบริบทของการละเมิดทางเพศ กรูมมิ่งก็คือกระบวนการเตรียมผู้ถูกกระทำให้อยู่ในสภาพที่จะไม่กล้าขัดคำสั่ง การชักจูงโน้มน้าวหรือการกดดันของผู้กระทำ เพื่อนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ทำให้ผู้กระทำสามารถอ้างกับคนอื่น ๆ หรือหลอกตัวเองให้รู้สึกผิดน้อยลง ว่าผู้ถูกกระทำยินยอมและเต็มใจนั่นเอง (แต่ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำเป็นเด็ก ไม่มีวุฒิภาวะหรือความเข้าใจเพียงพอที่จะให้การยินยอมได้ การอ้างเหตุผลเช่นนี้ย่อมใช้ไม่ได้ในทางกฎหมาย)

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้พฤติกรรมแบบกรูมมิ่งนี้เป็นอาชญากรรมที่สามารถนำไปสู่การดำเนินคดีและตัดสินลงโทษได้แล้ว เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา คอสตาริก้า เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่จะเน้นที่การติดต่อสื่อสารกับเด็กเพื่อล่อลวงผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต สำหรับประเทศไทยกำลังมีการผลักดันเรื่องนี้อยู่และคาดหวังคงจะมีกฎหมายออกมาในอีกไม่นานนี้

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา

นักจิตวิทยาคลินิก ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม

Sombat Tapanya