Grooming solution การป้องกันและจัดการกับปัญหา
พฤติกรรมการละเมิดทางเพศต่อเด็กและวัยรุ่น มีรากเหง้าที่ยาวไกลอยู่ในหลายวัฒนธรรม คาบเกี่ยวอยู่กับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ การกดขี่เพศหญิงโดยการสร้างความเชื่อที่ปลูกฝังลงในจิตสำนึกของทั้งชายและหญิง สะท้อนออกมาในวรรณกรรมที่หญิงจะต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครที่เสริมอำนาจหรือความสำคัญให้ชาย (ตามคำพังเพย ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง) สื่อบันเทิง (ละครตบจูบ ข่มขืน ที่ปลูกฝังทัศนคติให้ความชอบธรรมกับพฤติกรรมเช่นนี้) การร้องเพลงบรรยายการข่มขืนอย่างสนุกสนานในงานรับน้องหรือกิจกรรมนักศึกษา (เช่นเพลงมัดหมี่และเพลงอื่น ๆ ที่ส่อความหมายเดียวกัน) และแม้กระทั่งการขายสินค้าที่ต้องมีผู้หญิงแต่งตัวเพื่อกระตุ้นความต้องการทางเพศ (เช่น พริตตี้ในงานขายรถ สาวเชียร์เบียร์ นางแบบโฆษณาสินค้า) ในหลายประเทศมีความนิยมการแต่งงานกับเด็ก เช่น ในอินเดีย บังคลาเทศ ในประเทศไทยเองผู้ที่มีฐานะทางสังคมจำนวนมากก็นิยมพฤติกรรมทำนองนี้ ดังเช่นเป็นที่ทราบกันว่าการต้อนรับดูแลผู้ใหญ่ต้อง “เลี้ยงดู ปูเสื่อ” คือจัดหาหญิงสาวมาให้บริการ สำนวน “เปิดบริสุทธิ์” ซึ่งความหมายเดิมหมายถึงการทำลายพรหมจรรย์ของหญิง ถูกนำมาใช้กับเรื่องนี้ และนำให้เกิดความคุ้นชินจนถึงกับเอาไปใช้กับเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นการใช้ของที่เพิ่งซื้อมาใหม่เป็นครั้งแรก โดยที่ผู้พูดไม่ได้ตระหนักถึงที่มาของคำนี้เลย
พฤติกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวคือการสร้างความเคยชิน ยอมรับการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อสตรีว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แม้กระทั่งผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็ติดกรอบความคิดเช่นนี้ ดังจะเห็นได้จากข่าวที่มีครูผู้หญิงออกมาปกป้องครูที่ข่มขืนนักเรียน ผู้บังคับบัญชาหญิงในหน่วยงานราชการออกมาปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาที่ข่มขืนเพื่อนร่วมงานหญิง
ในขณะที่การละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่น่ากลัว น่าอับอายสำหรับผู้ถูกกระทำ แต่สำหรับผู้ชายโดยทั่วไปกลับกลายเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ น่าอวด เหมือนเป็นการแสดงออกถึงความมีอำนาจ มีเสน่ห์ ที่ผู้ชายมักนำมาประชันขันแข่งกันว่าใครจะแน่กว่าใคร
เราจึงควรตระหนักถึงความเป็นสองมาตรฐานในสังคมที่คาดหวังให้ผู้หญิงเป็น “กุลสตรี” ต้องสุภาพเรียบร้อย เชื่อฟังผู้ชาย หากคบหาผู้ชายมากกว่าหนึ่งคนจะถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงใจง่าย สำส่อน แต่ผู้ชายที่คบผู้หญิงมากกว่าหนึ่งคนกลับได้รับการยกย่องว่า “เจ้าชู้” เป็นคนเก่ง น่าอิจฉา ในหมู่ชายด้วยกัน บางประเทศ (เช่น อิหร่าน อัฟกานิสถาน) ถึงกับมี “ตำรวจศีลธรรม” คอยจับตาตรวจสอบและลงโทษหญิงที่แต่งตัวไม่เรียบร้อย ต้องคลุมผม ห่อหุ้มร่างกายแทบทุกส่วน ห้ามเดินทางหรือปรากฏตัวในที่สาธารณะตามลำพัง ห้ามขับรถ แต่กลับไม่มีข้อบังคับเช่นเดียวกันนี้กับผู้ชายเลย ความเป็นสองมาตรฐานนี้ยังสร้างความอยุติธรรมต่อผู้หญิงในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น จะพบโดยทั่วไปว่าผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมหรือมากกว่าผู้ชาย มักได้รับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนต่ำกว่าผู้ชาย มีโอกาสก้าวหน้าน้อยกว่าเสมอ
การป้องกันในระดับที่ลงไปถึงรากเหง้าของปัญหาจริง ๆ จึงควรเป็นการให้ความรู้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคนทั่วไปให้ทราบถึงความร้ายแรงของปัญหา สถิติหรือข้อมูลจากการสำรวจที่บอกให้รู้ว่าปัญหานี้มีมากกว่าที่คนทั่วไปคิด และผลกระทบที่มีต่อผู้ถูกกระทำว่าส่งผลร้ายแรงต่อทุกด้านของชีวิตอย่างไร
การชี้ให้ทุกคนเกิดความตระหนักว่าคนจำนวนมากยังมีทัศนคติและความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในเรื่องนี้ และเข้าใจว่าในขณะที่ปัญหานี้รุนแรงมาก แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง เพราะเรื่องเพศมักถูกมองว่าเป็นเรื่องสกปรก ผิด บาป และเมื่อไม่มีใครพูดถึง ผู้กระทำก็จะฉวยโอกาสทำความผิดต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้กระทำแต่ละคนมีโอกาสทำร้ายคนจำนวนมาก โดยเฉพาะปัจจุบันการใช้สื่อผ่านอินเตอร์เน็ตและมือถือ ทำให้เข้าถึงเหยื่อหลายคนพร้อมกันได้อย่างง่ายดาย
โครงการ “พอกันทีกรูมมิ่ง” ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันมีจุดประสงค์ที่จะให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง และคนทั่วไปรู้จักแบบแผนของพฤติกรรม “กรูมมิ่ง” และสามารถหลีกหนี หรือเข้าแทรกแซง ขัดขวาง เสียตั้งแต่ต้น ไม่ปล่อยให้นักเรียนหรือเยาวชนต้องตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำ ผู้ที่เข้ารับการอบรมให้หลักสูตรนี้จะได้รับการกระตุ้นให้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไปให้มากที่สุด และกำชับให้คอยสอดส่อง สังเกตพฤติกรรมของคนรอบตัว ว่าเข้าข่ายการกรูมมิ่งหรือไม่ แล้วทำการขัดขวางแทรกแซงหรือแจ้งเหตุตามความเหมาะสม
ในองค์กรที่ทำงานด้านเด็กในระดับนานาชาติ เช่น ยูนิเซฟ หรือองค์กรอื่น ๆ ปัจจุบันจะต้องมี “นโยบายและแนวปฏิบัติ” ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ห้ามอยู่ตามลำพังกับเด็ก ห้ามสัมผัสตัวเด็กในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ห้ามติดต่อสื่อสารเป็นส่วนตัวกับเด็ก ฯลฯ โรงเรียน สถาบันการศึกษา หรือสถานที่ดูแลเด็กทุกแห่ง จึงควรมีนโยบายและแนวปฏิบัติเช่นนี้ มีการประกาศให้ทราบ ย้ำเตือนเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ และมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ผู้ปฏิบัติงาน (เช่น ครูหรือผู้ดูแลเด็ก) จะต้องอ่านให้เข้าใจแล้วเซ็นรับทราบทุกคน และเมื่อมีเหตุการณ์ละเมิดขึ้นก็ต้องมีการดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและฉับไว โดยอิงหลักการสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็ก ถือเอาประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่เน้นการปกปิดเรื่องเพื่อปกป้องชื่อเสียงของหน่วยงานหรือสถาบันแต่ละเลยสิทธิของเด็กผู้เสียหาย ดังที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา
นักจิตวิทยาคลินิก ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม