ทำความรู้จัก “กรูมมิ่ง”

กรูมมิ่ง (Grooming) หรือ การตระเตรียมเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ หมายถึง กระบวนการตระเตรียมล่วงละเมิดทางเพศที่คนร้าย หรือ Groomer เข้าหาเป้าหมายด้วยการวางแผนและใช้เล่ห์กลอย่างเป็นขั้นตอน มีความแนบเนียน ค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งเด็กและเยาวชนจำนวนมากถูกแสวงประโยชน์ทางเพศด้วยความไร้เดียงสา อ่อนประสบการณ์ และแม้แต่ผู้ใหญ่รอบตัวยังอาจถูกใช้ประโยชน์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการล่อลวงที่เกิดขึ้น

ทำความเข้าใจกระบวนการกรูมมิ่งผ่านแอนิเมชั่น โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย

ผลกระทบในเรื่องนี้เกิดเป็นบาดแผลรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่ผู้ประสบเหตุมักจะคิดถึงการฆ่าตัวตายเพื่อหนีความอับอายและความรู้สึกผิดภายในใจรวมทั้งการถูกกล่าวโทษจากคนรอบข้าง บางรายที่ทำร้ายตนเองสำเร็จจึงกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่น่าเศร้าสลด

มูลนิธิศานติวัฒนธรรม ร่วมสร้างความเข้าใจเรื่อง “กรูมมิ่ง” ในรายการ เรื่องใหญ่ Thai PBS เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2023

การแก้ไขที่ปลายเหตุจึงไม่ช่วยทำให้ขนาดของปัญหาลดลง แต่การป้องกันและจัดการตั้งแต่จุดเริ่มต้นถือเป็นทางออกที่ดีและทรงประสิทธิภาพมากที่สุด

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิศานติวัฒนธรรมจึงมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อป้องกันภัยกรูมมิ่งด้วยกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมในเด็ก เยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็ก และการสร้างเครือข่ายในพื้นที่สถานศึกษาที่มีแนวทางในการป้องกันและรับมือกรูมมิ่งอย่างมีประสิทธิภาพ

เรามีคณะทำงานจากหลากหลายสหวิชาชีพที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พร้อมทำงานเพื่อป้องกันความรุนแรงทางเพศในเด็กและเยาวชน

คณะทำงาน

การทำงานของเรา

เรายังคงดำเนินการอบรม สร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ครูผู้สอน บุคลากรผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กและผู้สนใจทั่วไป

เป้าหมายของเรา คือ ทั่วประเทศไทยเกิดความตระหนักรู้เรื่อง "กรูมมิ่ง" และมีแนวทางในการป้องกันและรับมือที่มีประสิทธิภาพ

รายงานกิจกรรม มูลนิธิศานติวัฒนธรรม


2568

  • ขยายการทำงานเพื่อป้องกันภัยกรูมมิ่งไปสู่ระดับประเทศ ด้วยความร่วมมือจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้เราได้มีโอกาสถ่ายทอดความเข้าใจและแลกเปลี่ยนมุมมอง ในการบรรยายพิเศษ “การล่วงละเมิดทางเพศ: ภัยร้ายเงียบแห่งวงการกีฬา” เนื่องในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา การล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสมาคมกีฬาทั่วประเทศไทยกว่า 200 คน นอกจากนี้ เรายังมีแผนพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกรูมมิ่งและการล่วงละเมิดทางเพศในเยาวชนนักกีฬา ผ่านการสร้างแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน (Code of conduct) สำหรับทุกสมาคมกีฬา

  • ร่วมมือกับ อ.ดร.ธัญญลักษณ์ บุญลือ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกแบบกระบวนการและเนื้อหาสำหรับคู่มืออบรมเชิงปฏิบัติการ "กระบวนการเรียนรู้ทักษะความเป็นพลเมืองดิจิทัล" ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถใช้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (DQ) อย่างการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี ในการแยก "ความรัก" ออกจาก "ความลวง" ที่มีความซับซ้อน นั่นคือการกรูมมิ่งนั่นเอง


2567

  • ร่วมมือกับ อ.ดร.ธัญญลักษณ์ บุญลือ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกแบบกระบวนการและเนื้อหาสำหรับคู่มืออบรมเชิงปฏิบัติการ “รู้เท่าทันภัยไซเบอร์บูลลี่” ซึ่งมี "ออนไลน์กรูมมิ่ง" เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับ

  • ขยายการอบรมป้องกันกรูมมิ่งไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่


2566

  • เผยแพร่และจัดพิมพ์คู่มือการจัดอบรม หลักสูตรการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กนักเรียน : "พอกันที กรูมมิ่ง" ด้วยการสนับสนุนของ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนงานคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์

  • เริ่มดำเนินโครงการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กนักเรียน: พอกันทีกรูมมิ่ง (Train-the-Trainer: T-T-T) หลักสูตรสำหรับวิทยากร ปัจจุบันยังดำเนินการต่อเนื่อง มีวิทยากรผู้ผ่านการอบรมและสามารถนำหลักสูตรไปใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว 440 คน

  • โครงการโรงเรียนปลอดภัยไร้กรูมมิ่ง (Safe Schools: No Grooming) เริ่มดำเนินการในโรงเรียนต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย "โรงเรียนโกวิทธำรงเชียงใหม่" โดยมีทีมขับเคลื่อน 3 ฝ่าย ได้แก่ ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กในโรงเรียน กำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองนักเรียน (Code of Conduct) และรูปแบบการรับแจ้งเหตุสำหรับโรงเรียน รวมถึงการติดตามการทำงานและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ


2565

ดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการ "พอกันที กรูมมิ่ง" สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,400 คน


2564

เริ่มดำเนินการอบรมออนไลน์ทั้งในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง สหวิชาชีพและผู้สนใจทั่วไป เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่อง "กรูมมิ่ง"