เกี่ยวกับหลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้มีสุภาพดีตลอดชีวิต (PLH ) และโครงการ Global Parenting Initiative

หลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิต (PLH) เป็นโครงการระดับนานาชาติซึ่งนำโดย องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)  มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยแบงกอร์ มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ และ มหาวิทยาลัยสเตลเลนบอช โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบชุดหลักสูตรการอบรมพ่อแม่ที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ง่าย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้ได้ในทุกบริบททางวัฒนธรรม และขยายผลได้เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและปรับปรุงสุขภาวะของเด็กในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

โครงการ Global Parenting Initiative เป็นความร่วมมือที่จะใช้หลักสูตรการอบรมของ PLH เพื่อขยายงานด้านการส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กที่มีการวิจัยเป็นฐาน โดยมีการดำเนินงานอยู่ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ยูกันดา และแทนซาเนีย การสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กนี้รวมถึง การเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิตสำหรับเด็กเล็ก (PLH-Young Children) ซึ่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้เป็นผู้ปกครองที่มีเด็กอายุ 2-9 ปี การเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิตสำหรับวัยรุ่น (PLH Teens ) อบรมให้แก่ผู้ปกครองที่มีลูกวัยรุ่นอายุ 10-17 ปี โปรแกรม ParentText เป็นบริการส่งข้อความแชทบอทแบบโต้ตอบได้ ParentChat ซึ่งเป็นโปรแกรมออนไลน์สำหรับกลุ่มสนับสนุนผู้ปกครองด้านการเลี้ยงดูเด็ก และ ParentApp ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้แอพลิเคชั่นสำหรับผู้ปกครองของวัยรุ่น

หลักสูตรกาเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิตสำหรับเด็กเล็ก (PLH-YC)

PLH-YC เป็นหลักสูตรอบรมแบบกลุ่ม ที่ไม่ใช้การสอน แต่เป็นการทำงานร่วมกันโดยอิงตามหลักการเรียนรู้ทางสังคมและงานวิจัยที่มีมามากกว่า 50 ปี โดยวิทยากรที่ผ่านการฝึกอบรมทำงานเป็นคู่ และจะได้รับมอบหมายให้อบรมกลุ่มผู้ปกครอง 12-15 คน โดยพบกันสัปดาห์ละครั้ง ในแต่ละชั่วโมงการอบรม วิทยากรจะทำสิ่งต่อไปนี้ คือ: 1) นำผู้เข้าร่วมด้วยเทคนิคการลดความเครียดอย่างง่ายๆ ด้วยการฝึกความตระหนักรู้ 2) ใช้เรื่องเล่าที่มีภาพประกอบเพื่อแนะนำทักษะการเลี้ยงดูเด็กแบบใหม่ๆ ให้แก่ผู้ปกครอง 3) ฝึกผู้ปกครองให้ใช้ทักษะต่างๆ โดยการแสดงบทบาทสมมติ 4) มอบหมายให้ผู้ปกครองนำทักษะที่ได้เรียนรู้จากการอบรม ไปใช้กับเด็กๆ ที่บ้าน และ 5) นำการพูดคุยในกลุ่มเพื่อช่วยพ่อแม่ให้จัดการกับปัญหาที่พบที่บ้าน วิทยากรจะไปเยี่ยมบ้านก่อนเริ่มการอบรมและติดตามไปเยี่ยมผู้ปกครองที่ขาดการอบรมในบางชั่วโมงหรือที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม นอกจากนี้ วิทยากรจะส่งข้อความหรือไลน์ถีงผู้ปกครองแต่ละคนเพื่อกระตุ้นให้ฝึกปฏิบัติที่บ้าน ในขณะที่กำลังดำเนินการอบรมอยู่ จะมีบริการดูแลเด็ก รถรับส่ง และอาหารกลางวันเพื่อสนับสนุนให้ผู้ปกครองมาเข้ากลุ่มอบรมด้วย

การปรับใช้และประเมินผลหลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิตสำหรับเด็กเล็กในประเทศไทย

มีการประเมินในระยะเริ่มโครงการในปี 2561 โดยผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและสวัสดิการของไทยได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาหลักสูตร PLH-YC ฉบับภาษาไทย โดยปรับเปลี่ยนจากหลักสูตรเดิมที่มี 12 ชั่วโมงการอบรม ให้เป็น 8 ชั่วโมงการอบรม และเป็นการออกแบบเพื่อให้เหมาะกับพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าอื่นๆ ในระบบสาธารณสุข ที่จะทำหน้าที่เป็นวิทยากรนำการอบรม

ในปี 2562 โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรยูนิเซฟ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดได้ทำการวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมด้วยการใช้หลักสูตร PLHYC ฉบับภาษาไทย ทำการอบรมให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อยจำนวน 120 ครอบครัวในจังหวัดอุดรธานี โดยให้บุคลากรทางสาธารณสุขนำหลักสูตรนี้ไปอบรมผู้ปกครอง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลจำนวนสี่แห่ง โดยทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานตามปกติ และเก็บรวบรวมข้อมูลจากบันทึกรายงานของผู้ปกครองและการประเมินโดยการสังเกต

เมื่อเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มที่ได้รับการอบรมกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับการบริการตามปกติ ในการติดตามผล 3 เดือนภายหลังจากการอบรม นักวิจัยพบว่ากลุ่มที่ได้รับการอบรมลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็กลง 58% การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมและก้าวร้าวลดลง 44% ปัญหาสุขภาพจิตของผู้ปกครองลดลง 40% และปัญหาพฤติกรรมเด็กลดลง 60% ผู้ปกครองยังรายงานอีกว่าสามารถใช้วิธีการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกได้ดีขึ้น และรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการดูแลเด็กสูงขึ้น มีผู้ปกครองเข้าร่วมอบรมโดยเฉลี่ย 7 จาก 8 ครั้ง โดยรวมแล้วผู้ปกครองให้คะแนนความพึงพอใจในหลักสูตรโดยเฉลี่ย 9.4 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งแสดงถึงความพึงพอใจในระดับสูง

กิจกรรม

  • การพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรม ให้การดูแล และติดตามดูแล ของหลักสูตร PLH ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี

  • การประเมินในระยะแรกเริ่ม และการปรับใช้หลักสูตร PLH ในแบบดิจิตอล (ParentChat and ParentText)

  • การประเมินประสิทธิภาพของหลักสูตร PLH ในการป้องกันความรุนแรง การเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก สุขภาพจิตของผู้ปกครอง และปัญหาพฤติกรรมเด็กภายหลังการขยายงาน

  • การประเมินกระบวนการเกี่ยวกับการเข้าถึง การมีส่วนร่วม ความเที่ยงตรง และคุณภาพของหลักสูตร PLH ภายหลังการขยายงาน

  • การศึกษาเชิงคุณภาพเกี่ยวกับกลยุทธ์ของการช่วยให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูเด็ก

  • การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในระดับชาติและระดับภูมิภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และอุปสรรคต่อความยั่งยืนและการบูรณาการหลักสูตร PLH ในระดับนโยบายและการขยายงานเข้าสู่การให้บริการแก่ประชาชนในประเทศไทย

  • การพัฒนายุทธศาสตร์การสนับสนุนนโยบายระดับชาติระยะเวลา 5 ปีสำหรับหลักสูตร PLH ในประเทศไทย การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์และการศึกษาผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment หรือ SROI) ในอนาคตเกี่ยวกับหลักสูตร PLH ในประเทศไทย

  • จัดให้มีการประชุมและการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ กับชุมชนผู้ปฏิบัติงาน (Community of Practice หรือ CoP) ในระดับประเทศ ด้านการเลี้ยงดูเด็กที่มีหลักฐานสนับสนุนจากการวิจัย

  • จัดให้มีการประชุมและการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ กับกลุ่มประเทศในภูมิภาคที่กำลังดำเนินงานในโครงการเดียวกันนี้ (PLH Sub-regional Learning Initiative) (คือ ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์)

  • การสนับสนุนด้านนโยบายแก่ผู้กำหนดนโยบายระดับอาเซียนจาก 10 ประเทศเพื่อส่งเสริมหลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กที่มีหลักฐานจากการวิจัย